Now Reading
‘เทวาภิรมย์’ จากเครื่องหอมไทยในราชสำนัก สู่เครื่องหอมสามัญประจำบ้านของคนยุคใหม่

‘เทวาภิรมย์’ จากเครื่องหอมไทยในราชสำนัก สู่เครื่องหอมสามัญประจำบ้านของคนยุคใหม่

ยังไม่ทันที่เราจะผลักประตูบานเฟี้ยมเข้าไปในบ้านไม้สีเขียวไข่กา กลิ่นเครื่องหอมไทยในราชสำนักก็ลอดผ่านซี่ไม้ลวดลายสวยงามจนเราต้องหยุดเดินครู่หนึ่ง แล้วสูดกลิ่นหอมหอมเย็นชวนภิรมย์ที่ลอยฟุ้งในอากาศ ครูเอ๋สวมเสื้อพื้นเมืองของชาวล้านนากับซิ่นจกเมืองน่าน เปิดประตูบานเฟี้ยมพร้อมส่งยิ้มหวานแล้วเชื้อเชิญเราเข้าไปในบ้าน หมู่เครื่องหอมไทยและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ‘เทวาภิรมย์’ หลากชนิดจัดเรียงบนพานทองเหลือง ใกล้กันเป็นเครื่องเรือนไม้ที่อยู่คู่เรือนแถวเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 มาหลายชั่วอายุ

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสงกรานต์ปีนี้คนไทยคงไม่ได้เปียกปอนจากการเล่นสาดน้ำ หากแต่ยังสืบสานประเพณีอันดีงามอย่างการรดน้ำดำหัวและการสรงน้ำพระ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึง ‘เทวาภิรมย์’ แบรนด์เครื่องหอมไทยที่มี ครูเอ๋-ทิวาพร เสกตระกูล เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ หลังผันตัวเองจากการเป็นเลขาฯ ของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร และทนายความ ครูเอ๋ได้เข้าเรียนในโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง สาขาปักผ้าโบราณในราชสำนัก และเลือกลงวิชาเสริมในสาขาการปรุงเครื่องหอมชั้นสูง

ครูเอ๋-ทิวาพร เสกตระกูล ผู้ก่อตั้งเทวาภิรมย์

“ความที่ชอบเครื่องหอมอยู่แล้วเลยตัดสินใจลงเรียนวิชานี้ ซึ่งครูก็จะสอนการปรุงน้ำอบ เทียนอบ แป้งร่ำ แป้งพวง บุหงารำไป บุหงาสด บุหงาแห้ง และเครื่องประทินโฉมต่างๆ แต่น้ำปรุงไม่มีสอน เพราะสมัยก่อนเป็นความลับของแต่ละตำหนัก เหมือนในนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่ชาววังจะทำน้ำปรุงของแต่ละตระกูล แล้วถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหลาน บังเอิญครูโชคดีที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเมตตาถ่ายทอดวิชาการทำน้ำปรุงสูตรของพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

“คุณป้าท่านนั้นเล่าว่า สมัยก่อนไม่มีใครมาจดบันทึกสูตรเหมือนน้ำหอมฝรั่งกันหรอก อาศัยครูพักลักจำตอนเป็นลูกมือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงหยิบจับอะไรก็ต้องช่างสังเกตและจดจำ ใครโชคดีมีโอกาสได้อยู่ในตำหนักท่านจึงเหมือนเป็น ‘เอตทัคคะเรื่องเครื่องหอม’ และมีความรู้เรื่องการปรุงเครื่องหอมติดตัว แต่ต่อให้ได้สูตรมาก็อาจจะปรุงกลิ่นออกมาแตกต่างกันไป  ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับกลิ่นของแต่ละคนด้วยค่ะ เหมือนที่คนทำอาหารเรียกว่า ‘รสมือ’ นั่นล่ะ”

นอกเหนือจากการเป็น ‘Le Nez’ หรือ ‘The Nose’ นักปรุงกลิ่นแล้ว เสน่ห์อย่างหนึ่งซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรุงเครื่องหอมไทยในราชสำนัก อยู่ที่การทำความเข้าใจถึง ‘ช่วงเวลา’ ที่เหมาะสมในการเก็บดอกไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้กลิ่นหอมติดตรึงนานและไม่หมดกลิ่นหอมไปเสียก่อน รวมถึงต้องรู้วิธีลอยดอกไม้ไม่ให้เหม็นเขียว

“ดอกกุหลาบต้องเก็บตอนเช้าตรู่ ช่วงที่น้ำค้างยังคงอยู่บนกลีบดอกไม้ มะลิต้องเก็บช่วงเย็นเพราะมะลิจะมีน้ำมันหอมออกมาและให้กลิ่นหอมเต็มที่ในช่วงหัวค่ำ นำมาลอยน้ำเพื่อให้น้ำมันจับตัวบนผิวน้ำ ช่วงตี 4 ต้องรีบช้อนออกไม่อย่างนั้นจะเหม็นเขียว สายหยุดจะหอมช่วงหัวค่ำและหอมจัดยามเช้ามืด พอสายปุ๊บจะหยุดหอมทันที กระดังงาต้องเก็บช่วงเย็น เด็ดแล้วให้นำกระเปาะมาลนไฟ เพื่อให้น้ำมันคลายตัวและส่งกลิ่นหอมออกมาเรียกว่า ‘กระดังงาลนไฟ’ ให้กลิ่นหอมตราตรึง ดังนั้น การจะเป็นนักปรุงกลิ่นหอมที่ดีต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดอกไม้เช่นกัน”

ใบเนียม วัตถุดิบสำคัญสำหรับเครื่องหอมไทย

พูดจบครูเอ๋ก็ชี้ชวนให้ดูสวนเล็กๆ หลังบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่เพาะปลูกดอกไม้และสมุนไพรส่วนหนึ่งที่นำมาปรุงเป็นเครื่องหอมของแบรนด์ ก่อนที่สามีของครูเอ๋จะเดินยิ้มร่าเข้ามาทักทายเรา ในมือถือกล้วยน้ำว้าหวีใหญ่ลูกอวบจัดที่ตัดจากสวนหลังบ้าน นำมาวางคู่กับกาน้ำชาจีนกลิ่นหอมฟุ้งให้เรารับประทาน “ทุกอย่างเราปลูกด้วยวิถีธรรมชาติ เช่นเดียวกับทุกผลิตภัณฑ์ของเราที่ปราศจากสารเคมี”

‘น้ำปรุงนางพญา’ กลิ่นหอมระดับ Signature ของเทวาภิรมย์

โถเครื่องลายครามจีนเรียงรายบนแคร่ไม้กลางบ้าน โถแต่ละใบใช้เป็นที่หมักบ่มดอกไม้จึงให้กลิ่นหอมคละคลุ้งยามเมื่อเปิดฝา ใกล้กันเป็นชุดรับแขกไม้ที่มีโถเบญจรงค์ลายน้ำทองพร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 อัดแน่นด้วยบุหงาหมักกลิ่นหอมละมุนที่เราไม่เคยได้กลิ่นมาก่อน เป็นกลิ่นหอมเดียวกับที่ครูเอ๋จับใส่ถุงผ้าโปร่งเล็กๆ ติดไม้ติดมือเป็นของฝากให้กับทีมงาน FYI

“ครูเรียนการทำน้ำปรุงอยู่หลายปี จนได้สูตรน้ำปรุงนางพญาเป็น Signature ของเทวาภิรมย์ ซึ่งคุณป้าผู้ถ่ายทอดวิชาให้กับครูเล่าให้ฟังว่า เป็นกลิ่นน้ำปรุงที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรด และเป็นตำรับใกล้เคียงกับ ‘ทิพย์คนธา’ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณยายช่วง สุเดชะ (ข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์) เลยตั้งชื่อว่า ‘นางพญา’ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งกลายเป็นกลิ่นน้ำปรุงขายดีที่สุดของเทวาภิรมย์”

เราเหลือบไปเห็นขวดแก้วลายสวย ถ้วยเบญจรงค์ และขวดบุหงานานาพันธุ์จัดวางเป็นระเบียบในตู้ไม้สไตล์วินเทจ โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และตำราการปรุงเครื่องหอมไทยในราชสำนักจัดวางอย่างเป็นระเบียบ

“น้ำปรุงเป็นน้ำหอมของชนชั้นสูงไทยในสมัยโบราณ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 มีการนำเข้าน้ำหอมของชาวตะวันตกทำให้น้ำปรุงถูกลืมไปห้วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงฟื้นฟูเครื่องหอมไทยขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความที่น้ำหอมฝรั่งกลิ่นจะแรง เพราะเขาอยู่เมืองหนาวและไม่ค่อยอาบน้ำบ่อยเหมือนคนไทย เลยต้องฉีดน้ำหอมกลิ่นแรงเพื่อกลบกลิ่นกาย

“นานวันเข้าคนไทยก็ชักจะเวียนหัวเลยทำให้ความนิยมในน้ำปรุงกลับมาอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับมีการนำเอทิลแอลกอฮอล์มาใช้เป็นตัวทำละลายเพื่อให้กลิ่นของน้ำปรุงติดทนนานขึ้น นำมาผสมกับพิมเสนเพิ่มความเย็นและใช้ชะมดเช็ดเป็นสารตรึงกลิ่น เครื่องหอมไทยทุกชนิดขาดชะมดเช็ดไม่ได้เลย แต่ใช่ว่าเราจะนำชะมดเช็ดมาใช้ได้ทันที ลูกศิษย์ครูคนหนึ่งเคยถึงกับอาเจียนมาแล้ว ดังนั้นเราต้องนำมาผ่านกระบวนการ “สะตุชะมดเช็ด” เป็นการฆ่าเชื้อทำความสะอาด ดึงกลิ่นหอมและคุณสมบัติในการเป็นสารตรึงกลิ่นออกมา โดยจะนำชะมดเช็ดปริมาณเล็กน้อยหรือเท่าหัวไม้ขีดป้ายลงบนใบพลู บีบน้ำมะกรูดลงไป แล้วลนด้วยเปลวเทียนให้เกิดความร้อนจนกว่าจะละลายเป็นน้ำมัน นอกจากจะใช้ชะมดเช็ดแล้วเทวาภิรมย์ยังใช้อำพันทะเล (อ้วกวาฬ) ในการตรึงกลิ่นด้วยค่ะ” 

‘หอมติดกระดาน’ ตำนานความหอมของแม่หญิงชาววัง

น้ำปรุงทั้ง 11 กลิ่นในขวดคริสตัลสวยได้รับการจัดเรียงให้มองเห็นถนัดถนี่ แต่ละขวดตั้งชื่อกลิ่นตามดอกไม้ที่นำมาปรุง อาทิ ราตรี ลีลาวดี แก้วเจ้าจอม บัวหลวง พุดน้ำบุษย์ บุปผชาติ จันทน์กระพ้อ ฯลฯ เราหยิบน้ำปรุงขวดแล้วขวดเล่าสูดดมกลิ่นหอม แล้วก็ต้องยอมใจให้กลิ่นของพุดน้ำบุษย์และราตรีที่ให้กลิ่นหอมเย็น ไม่ฉุนแรงเช่นน้ำหอมฝรั่ง แต่เป็นกลิ่นหอมละมุนที่เรารู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด

“น้ำปรุงใช้เวลาทำวันเดียวก็ปรุงเสร็จแล้ว แต่กว่าจะนำมาใช้ได้จริงต้องรอเป็นปีๆ เพื่อให้กลิ่นของส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันได้ดี และต้องเก็บรักษาในห้องที่ไม่โดนแสงแดด น้ำปรุงจะมีสีเขียวใสซึ่งได้จากคลอโรฟิลด์ตามธรรมชาติ พอนานวันเข้าก็จะกลายเป็นสีเหลืองอำพัน ยิ่งหมักนานยิ่งหอมเหมือนกระบวนการหมักบ่มไวน์ ชาววังนิยมนำมาแต้มบนผิวกายหรือเสื้อผ้าจนเป็นร่ำลือกันว่า ชาววังไปนั่งเรือนไหนกลิ่นกายจะหอมติดกระดาน”

ครูเอ๋ยังพูดถึงความแตกต่างระหว่าง ‘น้ำปรุง’ และ ‘น้ำอบ’ ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัด ทว่าในวรรณคดีเรื่อง ‘ขุนข้างขุนแผน’ มีการกล่าวถึงขุนข้างที่นำน้ำอบประพรมทั่วร่างกาย

“น้ำปรุงเริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จนได้รับความนิยมสูงสุดสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนน้ำอบเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณในการนำน้ำเปล่าหรือน้ำฝนกลางหาว (น้ำบ่อ) มาปรุงให้มีกลิ่นหอม ด้วยกระบวนการหมักบ่มและร่ำกำยานที่ซับซ้อนกว่า แต่สามารถนำมาใช้งานได้เลยไม่ต้องเก็บรักษานานเป็นปีเหมือนน้ำปรุง คนโบราณนิยมใช้ทาผิวกายให้มีกลิ่นหอม อย่างในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ก่อนจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายก็ต้องเข้าห้องเปลื้อง เพื่อประพรมน้ำอบลูบไล้ผิวกายให้รู้สึกเย็นและดับกลิ่นกาย คนโบราณใช้คู่กับแป้งร่ำที่นำมาผัดหน้าขาวนวล”

บุหงาหมัก

น้ำอบ-น้ำปรุง ในวันที่ค่านิยมของคนไทยเปลี่ยนแปลง

ในยุคสมัยที่มนต์เสน่ห์ของน้ำอบและน้ำปรุงดูจะจางคลายไปตามกาล ด้วยกระแสค่านิยมของโลกตะวันตกที่ทำให้น้ำหอมและโรลออนเข้ามาแทนที่เครื่องหอมไทยที่เคยอยู่คู่บ้านเรือนมาหลายชั่วอายุ ทว่าน้ำอบและน้ำปรุงของเทวาภิรมย์ยังคงได้รับความนิยมจากคนยุคใหม่ไม่เสื่อมคลาย ทั้งในแง่ของการเป็นของชำร่วยในงานมงคลกระทั่งงานอวมงคลต่างๆ

แป้งว่านน้ำหอม ช่วยรักษาสิว ผด ผื่นคัน

นอกจากจะขายน้ำอบ น้ำปรุง เทียนอบ แป้งร่ำ แป้งเกสรกุหลาบ แป้งกระแจะจันทน์ สีผึ้ง ซึ่งล้วนเป็นของที่ควรซื้อติดไว้เป็นเครื่องหอมสามัญประจำบ้าน อย่าง ‘แป้งน้ำว่านหอม’ ช่วยรักษาสิวและผื่นคันในช่วงหน้าร้อน ‘สีผึ้ง’ ทาปากจากธรรมชาติ ‘แป้งขมิ้นตำรับโบราณ’ สำหรับขัดพอกผิวกายให้นวลผ่องและลดความมันของผิว และ ‘น้ำปรุง’ ที่สามารถใช้ฉีดแทนน้ำหอมฝรั่งได้เลย  

เทียนอบสำหรับอบผ้าและเทียนอบสำหรับอบขนมและอาหารไทย
(การอบผ้าและอาหารจะใช้เทียนอบต่างชนิดกัน)

“ทุกวันนี้มีลูกค้าหลายคนนิยมครีเอทกลิ่นน้ำปรุงขึ้นมาเป็นพิเศษ สำหรับใช้เป็นของชำร่วยในวันแต่งงาน ซึ่งครูจะปรุงให้เลือก 3-4 กลิ่น เป็นกลิ่น Original ของทั้งคู่ ไม่นำไปปรุงให้คนอื่นหรือวางจำหน่าย บวกกับเปิดคลาสสอนการทำเครื่องหอมไทย เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของเครื่องหอมไทยที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ ตัวตน และสืบสานภูมิปัญญาในการคิดค้นเครื่องหอมไทยของคนโบราณ ที่มีเสน่ห์ไม่แพ้น้ำหอมจากซีกโลกตะวันตก”  

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครูเอ๋ยังเปิดคลาสออนไลน์แล้วจัดส่งอุปกรณ์ประกอบการเรียนไปให้ลูกศิษย์ถึงบ้าน เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของ ‘เทวาภิรมย์’ ซึ่งไม่มีจำหน่ายหน้าร้าน นอกจากช่องทางออนไลน์ผ่านทาง www.facebook.com/tevapirom.perfume และช่องทางการจำหน่ายใน Lazada ส่วนคนที่อยากได้รับความรู้คู่เกร็ดประวัติศาสตร์ ไม่มีที่ไหนจะเหมาะสมเท่ากับการเป็นลูกศิษย์ของครูเอ๋แห่งเทวาภิรมย์อีกแล้ว

นอกจากจะตระเตรียมวัตถุดิบต่างๆ สำหรับปรุงเครื่องหอมไว้ต้อนรับเราแล้ว ครูเอ๋ยังเมตตาจัดเตรียมสำรับอาหารให้เรารับประทาน โดยมี ‘แกงปูใบชะคราม’ ‘ไข่เจียวหอม’ เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ ทำเอาผู้มาเยือนรู้สึกอบอุ่นและประทับใจในตัวเจ้าของเรือนยิ่งขึ้น เราตัดสินใจซื้อ ‘น้ำอบสรงพระแก้ว’ กลิ่นเดียวกับที่ใช้ในพระราชพิธีสรงน้ำพระแก้วมรกต และไม่ลืมที่จะซื้อ ‘แป้งน้ำว่านหอม’ เป็นของฝากญาติผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาล

เทวาภิรมย์

ก่อนจะก้าวเท้าออกจากเรือนไม้แถวสีเขียวไข่กา พร้อมกลิ่นหอมเย็นของเครื่องหอมไทยโบราณที่ลอดผ่านบานเฟี้ยมราวกับถ้อยคำอำลาจาก ‘เทวาภิรมย์’

กดติดตามเราได้ที่

website       :        www.fyibangkok.com

facebook     :        https://bit.ly/2LubSvt

instagram    :        https://bit.ly/3njGxJd

twitter         :        https://bit.ly/2KYAnBr

youtube       :        https://bit.ly/35dVFlp

ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกองบรรณาธิการ : pr.fyibangkok@gmail.com 
โทรศัพท์ 096 449 9516

รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์
สมัชชา อภัยสุวรรณ
Latest posts by สมัชชา อภัยสุวรรณ (see all)